วันจันทร์ที่ 5 พฤศจิกายน พ.ศ. 2555


                     แกะสลักไม้สัก
 
ศิลปะการแกะสลักไม้ เป็นมรดกทางวัฒนธรรมของชาติที่ตกทอดสืบต่อเรื่อยมาจนปัจจุบัน สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถทรงมีพระราชประสงค์จะอนุรักษ์มรดกทางวัฒนธรรมชิ้นนี้ให้ทรงคุณค่าจึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้หาครูมาสอนวิชานี้แก่สมาชิกศิลปาชีพ โดยทรงเน้นให้ใช้ไม้อย่างคุ้มค่าและและเหมาะที่สุด 
การแกะสลักเป็นอาชีพที่มีอยู่ทั่วไปโดยเฉพาะทางภาคเหนือ เพราะเป็นแหล่งที่หาวัตถุดิบได้ง่าย การแกะสลักแต่ละจังหวัดจะมีลักษณะแตกต่างกันตามปกติการแกะสลักลวดลายในที่ประดับต่าง ๆ นั้น ไทยเรามีตั้งแต่สมัยโบราณแล้ว เช่น การแกะสลักเพื่อประดับตามบ้านหรือวัดวาอาราม เป็นต้น
วัสดุที่ใช้ในการแกะสลัก
 ไม้คือวัสดุที่ใช้มากที่สุดไม้ที่ใช้ในการแกะสลักมีอยู่หลายชนิด แต่ละชนิดให้ลักษณะที่แตกต่างกันออกไปตามสีสันและลวดลายของไม้
ไม้สัก เป็นไม้ที่นิยมใช้ในการแกะสลักมากที่สุดเพราะมีผิวละเอียดและลายไม้สวย
 ไม้ชิงชัน เป็นไม้ที่นิยมมากเช่นเดียวกัน
ไม้โมกมัน เป็นไม้ที่นิยมกันพอสมควรเพราะราคาถูกและลวดลายไม้สวยงาม ไม้ฉำฉา เป็นไม้ที่นิยมกันพอสมควรเพราะราคาถูกที่สุด ผลิตง่ายเพราะเป็นไม้เนื้ออ่อน แม้ว่าลวดลายจะไม่สวยเท่าไม้อื่น ๆ นอกจากนี้ สมหวัง คงประยูร กล่าวถึงลักษณะการแกะสลักไม้ไว้ความว่า
 ประเภทของการแกะสลักมี 3 ประเภทคือ 1. ภาพประเภทนูนต่ำ 2. ภาพประเภทนูนสูง 3. ภาพประเภทลอยตัว การแกะสลักไม้มีอยู่สองลักษณะ อย่างหนึ่งคือแกะเป็นภาพนูนบนเนื้อไม้ เช่น หน้าบ้าน บานประตู หน้าต่างโบสถ์วิหารของวัด อีกลักษณะหนึ่งคือการแกะลอยตัวเช่น พระพุทธรูป ตัวละคร สัตว์ต่าง ๆ เป็นต้น นิยมใช้ไม้สักเป็นวัสดุในการแกะสลัก เพราะมีความอ่อนและเหนียวพอสมควร สามารถแกะสลักได้ลายคมชัดตามต้องการ มีลวดลายสวยงามในเนื้อและมีคุณสมบัติในการดูดซับสีหรือรักเป็นอย่างดี (สมหวัง คงประยูร, ม.ป.พ. : 40)
 
 
 เครื่องมือที่ใช้ในการแกะประกอบด้วยสิ่วหน้าต่าง ๆ ทั้งขนาดเล็กและขนาดใหญ่ ซึ่งมักจะทำขึ้นเองเพื่อให้ใช้ได้ถนัดมือช่างผู้ทำงานและเหมาะกับงานประเภทใดประเภทหนึ่ง สิ่วแต่ละขนาดใช้ในลักษณะต่าง ๆ กัน เช่น ใช้ตอกลงในเนื้อไม้เพื่อเติมเส้นลายและขุดพื้นให้ลึกลง ใช้เจียนปาดตัดลายตั้งเหลี่ยมเป็นชั้นเชิงเพื่อคัดตัวลายให้เด่นชัดขึ้น การแกะครั้งแรกเรียกว่าโกลน เป็นสิ่งสำคัญมากต้องโกลนให้ดีก่อนจึงจะแกะลายแกะรูปต่อได้สัดส่วนถูกต้องสวยงาม เมื่อเสร็จขั้นตอนการแกะแล้ว จึงจะลงรักปิดทองหรือลงสี ลงน้ำมันตามต้องการ
 ประเภทการแกะสลักไม้
 1.การแกะสลักภาพลายเส้น เป็นการเซาะร่องตามลวดลายของเส้นให้มีความหนักเบาเท่ากันตลอดทั้งแผ่น
 1.การแกะสลักภาพนูนต่ำ เป็นการแกะสลักภาพให้นูนขึ้นสูงจากพื้นแผ่นของไม้เพียงเล็กน้อยไม่แบนราบเหมือนภาพลายเส้น
 2.การแกะสลักภาพนูนสูง เป็นการแกะสลักภาพให้ลอยสูงขึ้นมาเกือบสมบูรณ์เต็มตัว ความละเอียดของภาพมีมากกว่าภาพนูนต่ำ
 3.การแกะสลักภาพลอยตัว เป็นการแกะสลักไม้ให้มีลักษณะเป็น 3 มิติ มองเห็นได้รอบด้าน
 
 
 การแกะสลักลาย
หลังจากออกลวดลายได้ตามต้องการแล้วลอกลายลงบนพื้นไม้ ใช้เลื่อยเลื่อยไม้ส่วนที่ไม่ต้องการออกเสียก่อน เป็นการขึ้นรูปหรือโครงลาย แต่ถ้าเป็นการแกะสลักไม้ทั้งแผ่นก็เริ่มงานที่การสกัดลวดลาย หรือกรุลายให้รู้ว่าส่วนใดเป็นพื้น ส่วนใดเป็นตัวลาย โดยใช้สิ่วขนาดใหญ่สกัดรอยเป็นการคัดตัวลาย เมื่อคัดตัวลายเสร็จเรียบร้อยทั้งแผ่นจึงมาถึงการขุดพื้น ขั้นแรกจะขุดเพียงพื้น ๆ ก่อน แล้วตรวจดูความถูกต้อง จึงลงมือขุดต่อไปให้เป็นพื้นลึกตามที่ต้องการ
 พอขุดพื้นได้ที่ก็ลงมือแกะตัวลายหรือโกลนลาย ด้วยการใช้สิ่วฉาก หลังจากโกลนลายเสร็จ จึงทำการเก็บรายละเอียดของลายให้มีความอ่อนช้อย ซับซ้อน ด้วยสิ่วเล็บมือ และสิ่วขมวด จนได้งานแกะสลักที่พึงพอใจ จึงลงมือขั้นตกแต่ง ขัดกระดาษทราย ทาดินสอพอง ทาน้ำมันเคลือบเนื้อไม้ หรือทาน้ำมันชักเงาตามชนิดของงานเป็นขั้นสุดท้าย งานแกะสลักไม้ที่ดีจะไม่มีการขัดถู กระดาษทรายบนตัวลวดลายเหล่านั้นเลยสามารถลงรักปิดทอง หรือทาน้ำมันเคลือบไม้ชักเงาได้ทันที

ขั้นตอนและวิธีการแกะสลักไม้

1. ออกแบบลวดลายของชิ้นงาน ซึ่งเป็นขั้นตอนที่สำคัญ สำหรับงานแกะสลักไม้ และต้องรู้จักลักษณะของไม้ที่จะนำมาแกะสลัก เช่นรู้ทางไม้ หรือเสี้ยนไม้ สิ่งเหล่านี้สำคัญที่ช่างแกะสลักจะต้องศึกษาหาความรู้

2. คัดลอกแบบลงพื้นไม้ สำหรับงานที่เป็นรูปเหมือน เพื่อให้ได้แบบ สัดส่วน ขนาดเท่าของของจริง สำหรับช่างที่มีความชำนาญจะนิยมวาดภาพโดยคร่าว ๆ ลงบนไม้ โดยจะมองภาพรวม ๆ

3. การขึ้นรูป เป็นการแกะเอาเนื้อไม้ส่วนที่ไม่ต้องการออกให้ไม้นั้นมีลักษณะรูปร่างใกล้เคียงกับแบบ เพื่อให้เกิดรูปทรงตามต้องการ และดูชิ้นงานจะมีรูปร่างชัดเจนมากขึ้น

4. แกะสลักลวดลายโดยละเอียด จะใช้สิ่วที่มีความคมเป็นเครื่องมือในการแกะสลัก ขั้นตอนนี้จะอาศัยความชำนาญในการแกะสลักลวดลาย ของช่างแต่ละคน ซึ่งจะต้องใช้มือและค้อนไม้ในการตอกการแกะ มีวิธีการแกะสลักที่แปลกออกไปตามความถนัดของแต่ละคนแล้วแต่กรณีไป เพื่อเก็บลายละเอียดให้มากที่สุด